แด่ (ว่าที่) บัณฑิตที่รักยิ่ง…เราต้องติดอาวุธทางปัญญา

“อาวุธทางปัญญา” เปรียบเสมือนสมบัติล้ำค่าของบัณฑิต เป็นสิ่งที่ต้องใช้ควบคู่กับปริญญา สำหรับต่อสู้ฟาดฟันกับความ Hyper ของโลก เพื่อความอยู่รอด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งประกอบด้วยอาวุธ 6 ประการ ดังนี้
1. นักเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learner) แม้จบการศึกษาแต่การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ความรู้ใหม่เกิดขึ้นตลอดทุกนาที ต้องมีความสงสัยใคร่รู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และหมั่นทบทวน / สงสัย ความรู้เดิมว่ายังใช้ประโยชน์ในปัจจุบันได้หรือไม่
แสวงหาความรู้ใหม่ + ทบทวนความรู้เดิม = นักเรียนรู้
อาศัยใบปริญญา + มั่นใจความรู้เดิม = คนตกยุค
2. หลงใหลในสิ่งที่ทำ (Passion) หากต้องการทำสิ่งใดให้ดีต้องหลงใหลกับมัน ซึ่งจะนำเข้าสู่ภาวะลื่นไหล สามารถทำได้ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เราสามารถสร้างความหลงใหลจากงานที่ทำได้ เพียงแค่เปลี่ยนมุมมองต่อมัน เพราะบางทีชีวิตอาจไม่มีทางให้เลือกเดินมากนัก
งาน + หลงใหล = ความลื่นไหล = ประสิทธิภาพ
หลงใหล + งาน = อาจต้องหางานใหม่ = ชีวิตวุ่นวาย
3. ลงมือปฏิบัติ (Practice) ความรู้เชิงลึกเกิดจากการปฏิบัติเท่านั้น ต้องลองทำ คิดแล้วลงมือทำ อ่านแล้วลงมือทำ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นความรู้และทักษะเฉพาะตัว แต่ทฤษฎีก็ยังมีความจำเป็น เพราะการปฏิบัติที่ประยุกต์จากทฤษฎีจะมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทฤษฎี 30% + ปฏิบัติ 70% = ประสิทธิภาพสูงสุด
ทฤษฎี 70% + ปฏิบัติ 30% = ประสิทธิภาพปานกลาง
ทฤษฎี 0% + ปฏิบัติ 100% = ประสิทธิภาพต่ำ
ทฤษฎี 100% + ปฏิบัติ 0% = ไม่เกิดประสิทธิภาพใด ๆ
(ความว่างเปล่า)
4. ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) เราต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น ความรู้สึกเหมือนที่เขารู้สึก หรือ I feel how you feel เป็นทักษะสำคัญ ความเข้าอกเข้าใจอาจไม่ทำให้ปัญหาหมดไป แต่ทำให้การแก้ไขเป็นไปได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด ตรงเพนพอยด์ที่แท้จริง
การแก้ปัญหา + ความเข้าอกเข้าใจ = แก้ปัญหาได้จริง
การแก้ปัญหา + มุมมองของตน = แก้ปัญหาฉาบฉวย
5. สร้างนิสัยที่ดี (Good habit) ความหลงใหลอาจทำให้สนุกกับการทำงาน แต่นิสัยทำให้เราทำอย่างต่อเนื่องจนเป็นกิจวัตร ต้องรู้จักสร้างนิสัยที่นำไปสู่เป้าหมาย ด้วยการฝึกฝืนทำสิ่งนั้นซ้ำ ๆ จนทุกอย่างเป็นอัตโนมัติ เพราะหากยึดติดกับความหลงใหลเราจะตกเป็นทาสของอารมณ์
นิสัยที่ดี + เป้าหมาย = สำเร็จแน่นอน
ความหลงใหล + เป้าหมาย = อาจจะสำเร็จ
6. เป็นพลเมือง (Citizenship) ต้องมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สำนึกรับผิดชอบต่อการกระทำที่ส่งผลต่อส่วนรวม คิดถึงส่วนรวมเป็นหลัก ลดความเห็นแก่ตัว ลดความยึดมั่นถือมั่นในใจ ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
รับผิดชอบตัวเอง + รับผิดชอบสังคม = พลเมือง
รับผิดชอบตัวเอง + ไม่รับผิดชอบสังคม = ประชาชน
ไม่รับผิดชอบตัวเอง + ไม่รับผิดชอบสังคม = ภาระของเมือง
อาวุธทางปัญญาทั้ง 6 ประการ ไม่สามารถหาซื้อหรือขอจากใครได้ หากแต่เกิดขึ้นจากตัวของบัณฑิตเอง เป็นสมบัติภายในที่ต้องค้นหา สร้าง และรักษาไว้ เพื่อเป็นต้นทุนกับการต่อสู้ในโลกที่ Hyper … ลองสร้างมันดูน่ะ !!!
ขอให้ก้าวเดินออกจากมหาวิทยาลัย ฯ อย่างมั่นคง และไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างสง่างาม ครับ