สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ จัดโครงการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 กิจกรรม “อบรมเชิงปฏิบัติการเยาวชนสร้างสรรค์นวัตกรรมท้องถิ่น”

เผยเเพร่เมื่อ 171 เข้าชม
26 ธันวาคม 2566

สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ จัดโครงการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 กิจกรรม “อบรมเชิงปฏิบัติการเยาวชนสร้างสรรค์นวัตกรรมท้องถิ่น”
ในหัวข้อการพัฒนาข้าวฮางงอกแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฉบับปฏิบัติ ตาม แนวทางโคก หนอง นา โมเดล ช่วงต้นน้ำเน้นการปลูกข้าวอินทรีย์ ที่ใช้ปุ๋ยจากซากอินทรีย์วัตถุต่าง ๆ ที่ต้นทุนต่ำ
ช่วงกลางน้ำเป็นการแปรรูปข้าวฮางงอกเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ข้าวแต๋น ข้าวซอยตัด เป็นต้น ซึ่งข้าวฮางงอกเป็นอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ มากกว่าข้าวขัดขาว ที่ให้พลังงานและน้ำตาลสูง (โดยเฉพาะข้าวเหนียว)
และในส่วนปลายน้ำเน้นการนำใส่บรรจุภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) ให้กับข้าวฮางงอก และต้องเน้นในเรื่องของการตลาด เพื่อกระจายสินค้าสู่กลุ่มเป้าหมายที่ยังเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche market)
สำหรับในช่วงบ่ายนักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติตามวิธีการบรรจุภัณฑ์แบบต่าง ๆ โดยผลิตภัณฑ์สามารถนำไปเป็น
กระเช้า และของขวัญปีใหม่ให้กับบุคคลที่เคารพนับถือ และยังนำไปเป็นอาหารในชีวิตประจำวันได้อย่างดี
หากนักศึกษาเข้าใจ Concept ข้าวฮางแบบครบวงจร และมีที่นาอยู่แล้ว สามารถนำองค์ความรู้นี้ไปต่อยอดเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลักได้ในอนาคต โดยต้องอาศัยเครือข่ายจากวิทยากรทั้ง 2 ท่าน เป็นแรงสนับสนุน
โดนส่วนตัวผมคิดว่าการพัฒนาข้าวฮางงอกจากสินค้าเฉพาะ (Niche) เป็นสินค้าทั่วไป (Mass) ต้องอาศัยการทำ Storytelling ที่น่าสนใจ เพื่อโปรโมทคุณสมบัติของสินค้า และต้องการนโยบายภาครัฐที่มาสนับสนุนอย่างจริงจัง
อาทิ การใช้ข้าวฮางงอกเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน เป็นอาหารในโรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งวิทยากรบอกกับผมว่า กลุ่มลูกค้ายังมีแค่คนรักสุขภาพ ผู้สูงอายุ หรือข้าราชการบำนาญที่สนใจในเรื่องสุขภาพเท่านั้น
ดังนั้นการตัดสินระดับนโยบาย (Policymakers) ต้องให้ความสำคัญทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) โดยเฉพาะการหาตลาดมารองรับสินค้าเหล่านี้ ไม่ใช่ส่งเสริมการผลิตและการแปรรูปแต่ขาดตลาดรองรับเหมือนปัจจุบัน
โจทย์นี้คงต้องขบคิดต่อไป ทั้งในมุมมองด้านการเป็นผู้ประกอบการ ด้านนโยบายสาธารณะ ด้านการบริหารสถานศึกษา และมุมมองของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ฯ ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
ขอขอบคุณ คุณกัลปังหา เฟอร์เรีย ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สกลนคร คุณธนัตถ์ศรณ์ เถายะบุตร ศึกษานิเทศก์ สพป. สกลนคร และประธานวิสาหกิจชุมชนหลายกลุ่ม ที่ให้ความกรุณากับคณะ ฯ ในวันนี้
หวังว่าในโอกาสต่อไปทั้ง 2 ท่าน จะให้การสนับสนุนนักศึกษาของเราในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน และขอขอบคุณ รศ.ดร.สัญญาศรณ์ สวัสดิ์ไธสง ผู้ดำเนินโครงการในครั้งนี้เป็นอย่างสูง