กิจกรรม FMS Clubhouse Season 3

28 ตุลาคม 2567
กิจกรรม FMS Clubhouse Season 3
วันนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักศึกษาสาขาวิชาการจัดการธุรกิจค้าปลีก ที่จัดการเรียนการสอนแบบ Work Based Education ร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และเป็นหมู่เรียนที่ยังไม่เคยเจอ เนื่องจากสลับกันไปฝึกปฏิบัติงานจริงกับหมู่เรียนที่อยู่สมุทรสาครในปัจจุบัน
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่จบ ปวส. ต่อ 2 ปีหลัง และกลุ่ม 4 ปี เด็ก ๆ เพิ่งไปฝึกปฏิบัติงานมาครั้งแรกเวลา 3 เดือน และเรียนในมหาวิทยาลัย ฯ เกือบ 2 เดือน บางคนมีประสบการณ์ปฏิบัติงานตั้งแต่เรียน ปวช. บางคนเพิ่งเคยทำงานครั้งแรก หากจำแนกปัญหาที่พบ สรุปได้ คือ
∆ ปัญหาเรื่องคน เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนทำงาน ประกอบด้วย
1. เพื่อนร่วมงาน เด็ก ๆ อาจะเจอเพื่อนร่วมงานแสดงออกโดยการใช้คำพูดไม่ดี บางคนอาจมีทักษะการทำงานหน้าเคาเตอร์ช้า ก็จะถูกเหน็บแนม ถูกพูดแซะ ถูกบูลลี่ เมื่อนำเอามาใส่ใจก็ทำให้เสียกำลังใจ เด็กบางคนขอย้ายสถานที่ปฏิบัติงาน แต่สำหรับคนที่ปรับตัวได้ จัดการอารมณ์ได้ ก็ทำให้ปัญหาลดลง
2. ปัญหากับผู้จัดการ เด็กบางคนมีประสบการณ์เผชิญกับ F.C. ที่ค่อนข้างจุกจิก ชอบดุด่า และทำต่อหน้าลูกค้า เข้าข่ายเป็นพวกท็อกซิกเลยทีเดียว พ่นพิษใส่พนักงานทุกคนจนในสาขารวมกลุ่มกันคุยกับผู้บริหารระดับสูงขึ้นไป เพื่อย้าย F.C. คนนี้พ้นจากสาขาที่ทำงาน
ปัญหาเรื่องคนนี่แหละที่เด็ก ๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าหนักหนาสาหัสที่สุด บางคนปรับตัวในช่วงแรกไม่ได้ก็ร้องไห้ โทรปรึกษาพี่เลี้ยงที่ดูแล และปรึกษาศูนย์รับบริการของบริษัท แต่สำหรับคนที่ไม่มีปัญหาเหล่านี้คือ คนที่ไม่เก็บเอามาใส่ใจ ปล่อยผ่าน ไม่สนใจถ้าไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับงาน ข้อสังเกตตรงนี้เด็กที่มีประสบการณ์ทำงานมา ตั้งแต่ ปวช. สามารถจัดการอารมณ์ได้ดีกว่าเด็กที่เพิ่งเริ่มทำงาน ครับ
∆ ปัญหาเรื่องงาน เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของงานที่ทำ ประกอบด้วย
1. ปัญหางานที่ต้องใช้ความละเอียด ในปัจจุบัน 7-11 ในเมืองใหญ่ ๆ ที่เด็ก ๆ ฝึกปฏิบัติงาน มีบริการอาหารตามสั่ง เช่น ข้าวกระเพรา ข้าวไข่ข้น และเครื่องดื่มที่ทำสด ๆ เช่น กาแฟ น้ำหวานต่าง ๆ ต้องใช้ความละเอียดในการทำ ผนวกกับต้องทำในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้บางครั้งผิดพลาดไม่เป็นไปตามที่ลูกค้าสั่ง พนักงานจึงต้องเสียเงินซื้อเอง ซึ่งเจอกันเป็นประจำ ผมอดคิดไม่ได้ว่าบางทีของที่ซื้ออาจเกือบเท่าค่าแรงในวันนั้นแล้ว
2. ปัญหาเรื่องยอดขาย บางสาขาในเมืองใหญ่ตั้งเป้ายอดขายทั้งจากการสั่งผ่านออนไลน์ และการขายในร้าน บางวันยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าก็จะมีส่วนกลางมากดดันให้เร่งยอดขาย ซึ่งพนักงานพยายามแก้ปัญหาหลายแบบ อาทิ เดินออกไปคุยกับร้านข้างนอก เพื่อดีลสินค้าในราคาถูก กระตุ้นยอดขาย แต่ที่น่าสงสารคือบางครั้ง พนักงานต้องร่วมทุนกันซื้อสินค้าในสาขาของตัวเอง
3. ปัญหาเรื่องการขยายขอบเขตงาน ใน 7-11 สาขาในเมืองใหญ่ ๆ จะมีการขยายโมเดลธุรกิจมากขึ้น เด็ก ๆ ต้องปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอด โดยเฉพาะสินค้าหรือบริการที่ต้องใช้ความละเอียด เช่น อาหารตามสั่ง การชงกาแฟ ฯลฯ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝน ถึงจะสามารถทำได้อย่างคล่องแคล่ว ทำให้บางครั้งเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะให้ทันกับงาน จึงทำให้เกิดปัญหาความผิดพลาดตามมา
∆ ปัญหาเรื่องการจัดการ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของบริษัท ประกอบด้วย
1. การจัดกลุ่มพนักงาน เด็กที่มีประสบการณ์เล่าว่าสาขาใน กทม. จะจัดกลุ่มพนักงานได้ดีกว่าที่อยู่ในสมุทรสาคร เมื่อทำงานผิดพลาด หรือยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า การฟีดแบ็กพนักงานประจำ กับเด็กที่อยู่ในช่วงฝึกงานแตกต่างกัน ในขณะที่สมุทรสาครจะปฏิบัติกับทุกคนเหมือนกัน คือ ดุด่าว่ากล่าวทั้งหมด ซึ่งบางเรื่องเป็นความรับผิดชอบของระดับผู้จัดการ
2. ปริมาณพนักงาน ในความเป็นจริง 7-11 แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา ช่วงละประมาณ 8 ชั่วโมง พนักงานจะทำงานวันละ 1 ช่วงเวลา คือ 8 ชั่วโมง แต่บางสาขามีพนักงานลาออก ขอย้ายงาน ทำให้ปริมาณคนไม่เพียงพอ บางครั้งเด็ก ๆ เข้าทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า เลิกเกือบ 1 ทุ่ม สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็ก ๆ เหนื่อยล้า
เมื่อผมถามเรื่องความกังวลในอนาคตสำหรับการเรียนสาขานี้ เด็ก ๆ ก็ไม่มีความกังวลอะไร เพียงแค่อยู่ในช่วงของการปรับตัว เพื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงานควบคู่กับการเรียน ผมคิดว่าเด็ก อายุระหว่าง 18 – 22 ปี ทำได้ขนาดนี้ก็ดีมาก ๆ แล้ว ที่สำคัญระหว่างฝึกงาน 3 เดือน เด็กจะมีรายได้ประมาณ 11,000 – 17,000 บาท ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และยอดขายของแต่ละสาขา ครับ
ในนามคณาจารย์คณะวิทยาการจัดการ ขอเป็นกำลังใจให้เด็ก ๆ ทุกคน และขอขอบคุณคณาจารย์ประจำหลักสูตร ที่ดูแลเอาใจใส่เด็ก ๆ เป็นอย่างดี ครับ