สัมมนาหัวข้อ “การใช้ ChatGPT อย่างไรให้ปังทางด้านธุรกิจ” ณ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ (MBA) มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เผยเเพร่เมื่อ 188 เข้าชม
29 เมษายน 2566

อาจารย์สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ เข้าร่วมสัมมนาหัวข้อ “การใช้ ChatGPT อย่างไรให้ปังทางด้านธุรกิจ” ณ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ (MBA) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เพื่อยกระดับองค์ความรู้ และทักษะสำหรับการจัดการเรียนการสอนใหม่ (Up – Re Skill) สำหรับอาจารย์คณะวิทยาการจัดการ ให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี
ซึ่งประเด็น ChatGPT เป็น AI รูปแบบ Generative AI ที่ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสาร (Chat) และมีผู้ใช้งานแบบก้าวกระโดด (Exponential growth) มีจำนวนสมาชิก 1 ล้านยูเซอร์ ภายในเวลา 5 วัน และเพิ่มเป็น 100 ล้านยูเซอร์ ภายใน 2 เดือน (Facebook ใช้เวลาเกือบ 5 ปี)
ChatGPT เป็น AI ธรรมดาที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ไม่จำกัดเฉพาะผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี ใช้งานได้ในรูปแบบภาษาปกติ (Natural language) สามารถแปลงข้อความเป็นข้อความ ข้อความเป็นภาพ ข้อความเป็นวีดีโอ
และทำสิ่งอื่นได้อีกเยอะมาก แบบที่เรียกว่าเป็นการเพิ่มพลังอำนาจของ AI (Empowerment AI) แต่สิ่งสำคัญคือยังคาดหวังให้ทำงานเสร็จสิ้น (Finish) ไม่ได้ แต่สามารถทำร่างแบบ (Draft) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีข้อมูลมหาศาลอยู่ในระบบดิจิทัล
ดังโจทย์ของกิจกรรม Work shop ในช่วงบ่าย มีหัวข้อในเรื่องการทำร่างแผนธุรกิจ ร่างแผนการตลาด ร่างการพรีเซนต์เทชั่น การทำแผนโซเชียลมีเดีย ฯลฯ ที่ปกติต้องใช้เวลาเกือบ 1 เดือน แต่เมื่อใช้ ChatGPT ช่วยลดระยะเวลาลงมาเหลือเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมง
สิ่งสำคัญที่เป็นคำถามแห่งยุค คือ “มันจะมาแทนที่คนหรือไม่ ?” คำตอบในวันนี้ (วิทยากรว่าน่ะครับ) คือ มันสามารถรวบรวมข้อมูลได้มหาศาล แต่ยังขาดการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด พูดง่าย ๆ คือ ขาดความเป็นมนุษย์นั่นเอง
ดังนั้น ChatGPT จะเป็นผู้ช่วยงานที่ดี เพื่อให้คนทำงานได้ Draft เพื่อนำไปต่อยอดด้วยการ Craft (จัดแจง/ปรับปรุง/ศิลปะ) ให้งานสมบูรณ์แบบที่สุด ในปัจจุบัน ChatGPT จึงมีประโยชน์สำหรับคนปฏิบัติงาน 2 ข้อ คิอ 1) เพื่อลดเวลาการทำงาน 2) เพื่อเพิ่มผลผลิต
แต่หากมนุษย์ไม่เรียนรู้และเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ในการเปิดรับ AI จาก “ผู้ช่วย” จะกลายเป็น “ผู้แทน” ทันที เหมือนที่หนังสือ Homo Sapiens ที่มีสมมติฐานว่าแรงงานออฟฟิศ (Blue and White Collar Workers) จะกลายเป็น “ชนชั้นไร้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ”
คำตอบในยุคนี้ คือ เรื่องของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง (Self transformation) เพื่อเปิดรับสิ่งต่าง ๆ เข้ามาใหม่ ปลดแอกความรู้เดิมที่ล้าสมัย เพื่อเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long learner) ครับ
เพราะวันนี้ คือ อนาคต และ อนาคต คือ วันนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ หวังว่าคณาจารย์ทุกท่านจะได้รับประโยชน์ ต่อยอดไปสู่นักศึกษาเรา